วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2567

กิจกรรม "Pink Power, A Mile to Smile ก้าวต่อไปเพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม"

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเครือข่ายชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

บูรณาการความร่วมมือชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทยและโนวาร์ตีส เดินหน้า                   

สร้างความตระหนักและเข้าใจ A Mile to Smile ก้าวต่อไป เพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

      เดือนตุลาคมของทุกปี เดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม World Breast Cancer Awareness Month ซึ่งถือได้ว่าเป็นมะเร็งร้ายอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดย ศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ร่วมกับ TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และบริษัท โนวาร์ตีส ประเทศไทย จำกัด บูรณาการความร่วมมือจัดกิจกรรม "Pink Power, A Mile to Smile ก้าวต่อไปเพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม" ร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักและเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ตลอดจนผู้ดูแลและประชาชนผู้ที่สนใจ พร้อมเปิดเครือข่ายชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นสื่อกลางในการรวมกลุ่มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมพลังกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นำทีมแพทย์สหสาขาด้านโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ นำโดย แพทย์หญิงจอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปฏิบัติการ แพทย์หญิงปิยะรัตน์ ลิมปวิทยากุล แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา และนายแพทย์ธไนศวรรย์ ปลูกผล แพทย์เฉพาะทางศัลยศาสตร์มะเร็งวิทยา เสวนาให้ความรู้นวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งมะเร็งเต้านม และการร่วมผนึกสร้างพลังสีชมพูของกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยมี คุณอรวรรณ โอวรารินท์ ประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย , คุณไอรีล ไตรสารศรี รองประธานชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย , เภสัชกรหญิงสุมาลี คริสธานินทร์ ประธานบริหาร บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วย คุณโอปอล-สุชาตา ช่วงศรี มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2567 , คุณพีรดา พีรศิลป์ นักเขียนและบรรณาธิการอิสระกับชีวิตที่ต้องเผชิญกับมะเร็งเต้านมสู่จุดเปลี่ยนของชีวิตและการค้นพบความสุขที่แท้จริง , คุณกัญณัฏฐ์ พิมไธสง ตัวแทนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และ ดร.หทัยทิพย์ จิระธันห์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการเพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์และส่งมอบกำลังใจเพื่อรอยยิ้มผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ภายในงานยังได้รับเกียรติจากแขกรับเชิญพิเศษ คุณรัดเกล้า อามระดิษ ร่วมมอบบทเพลงเพื่อส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น ณ ชั้น 1 อาคารโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ขนาด 400 เตียง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567


“มะเร็งเต้านม” เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 1 ของสตรีไทยและสตรีทั่วโลก โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก กำหนดให้เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมสากล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญต่อสุขภาพเต้านมของตนเอง และด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ในปัจจุบัน โรคมะเร็งเต้านมสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษารวดเร็วและได้ผลดี เพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้สูงขึ้น และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้ผนึกความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรม Pink Power, A Mile to Smile ก้าวต่อไปเพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม โดยเปิดเวทีเสวนาให้ความรู้ในเรื่อง “นวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยมะเร็งมะเร็งเต้านม” ของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ซึ่งมุ่งเน้นการให้บริการทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งที่เป็นเลิศแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ขาดแคลนเพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการตรวจรักษาโรคมะเร็งที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียม สนองการดำเนินงานตามพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ผู้ทรงก่อตั้งโรงพยาบาลจุฬาภรณ์แห่งนี้ เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยมะเร็งและญาติ ควบคู่ไปกับการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การค้นคว้าวิจัยทางด้านวิชาการ ตลอดจนยกระดับและพัฒนาด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงในประเทศไทยให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ ทั้งนี้ จากสถิติการรักษาผู้ป่วยมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวนผู้ป่วยมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ มะเร็งเต้านม โดยตั้งแต่ปี 2561 - 2566 มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนถึงแม้จะเป็นมะเร็งเต้านมเหมือนกัน แต่การรักษาแตกต่างกัน โดยแพทย์จะคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะของตัวโรค, ชนิดของมะเร็งเต้านม, pattern การกระจายตัวของโรค, อาการของผู้ป่วย, ความแข็งแรงของร่างกายผู้ป่วย เป็นต้น


ทั้งนี้ ปัจจุบันมียามุ่งเป้าที่ออกฤทธิ์จำเพาะกับมะเร็งเต้านมซึ่งเลือกใช้ให้ตรงกับแต่ละชนิดของมะเร็งเต้านม ยกตัวอย่างเช่นในชนิด luminal subtype ที่มีการติดตัวรับฮอร์โมนเป็น positive ส่วน HER2 negative นั้น ก็จะมียามุ่งเป้าแบบกินที่บวกเข้าไปกับการกินยาต้านฮอร์โมนธรรมดา ซึ่งมีข้อมูลว่าช่วยคุมตัวโรคได้นานขึ้นและส่งผลให้ผู้ป่วยมีชีวิตยืนยาวขึ้นได้ อีกทั้งยาดังกล่าวผลข้างเคียงน้อยกว่าเคมีบำบัดด้วย ส่วนในชนิด HER2 positive ก็มีการใช้ยามุ่งเป้าแบบฉีดที่เป็นยาต้าน HER2 โดยให้คู่กันกับยาเคมีบำบัดก็จะช่วยให้เพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้มากขึ้นและมีผลข้างเคียงน้อย สำหรับปัจจัยเสี่ยงมะเร็งเต้านมเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่, พันธุกรรม เช่น การกลายพันธุ์ของ ยีน BRCA-1 หรือ BRCA-2 หรือการมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ความอ้วน ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ ทานยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมนทดแทนนานเกิน 10 ปี หรือเคยได้รับการฉายแสงบริเวณทรวงอกเมื่ออายุน้อย เป็นต้น การให้ความรู้เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนว่าการตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะต้นๆ และได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วเป็นแนวทางในการลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมได้ โดยแนวทางตรวจคัดกรอง มะเร็งเต้านม แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป หมั่นตรวจคลำเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน หลังมีประจำเดือนสัปดาห์ และผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองด้วยวิธีแมมโมแกรม และอัลตราซาวด์เต้านมทุกปี สำหรับผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกเต้านมตรวจตามคำแนะนำแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา และสำหรับผู้ที่มีผลการตรวจทางพันธุกรรมที่ผิดปกติควรตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุน้อยและบ่อยมากกว่าคนปกติ


      สำหรับการเสวนาในช่วงแบ่งปันประสบการณ์จากเครือข่ายผู้ป่วย My Breast Friend Sharing โดยชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย ซึ่งมีตัวแทนทั้งจากผู้ป่วยปัจจุบัน และอดีตผู้ป่วย รวมไปถึงผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยมาร่วมพูดคุยเสวนา โดยคุณพลอย-กัญณัฏฐ์ พิมไธสง เป็นตัวแทนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้เล่าถึงประสบการณ์การอยู่กับมะเร็งเต้านมด้วยรอยยิ้ม ความประทับใจและมั่นใจในการรักษากับทีมแพทย์สหสาขาที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยคุณพลอยได้เล่าว่า “ตรวจพบมะเร็งเต้านมในช่วงโควิดไม่นาน เส้นทางการรักษามีทั้งผ่าตัด คีโม ฉายแสง และรับยามุ่งเป้า ทุกวันนี้พลอยก็ยังเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลอยู่นะคะ ยังรับประทานยามุ่งเป้า และมาพบหมอเพื่อตรวจติดตามอาการสม่ำเสมอ คุณหมออธิบายให้ฟังเรื่องแผนการรักษา ทำให้เข้าใจและรู้สึกอบอุ่นใจมากค่ะ ความประทับใจตลอดระยะเวลาที่พลอยได้ใช้บริการที่นี่ การที่เราได้รักษากับโรงพยาบาลที่มีความพร้อม กับทีมหมอที่เชี่ยวชาญด้านการรักษามะเร็ง บุคลากรทั้งพยาบาลและเภสัชกรที่มีความรู้ในโรคมะเร็ง มันทำให้สุขภาพจิตใจของเราดีขึ้น คลายกังวล ต้องขอบคุณคุณหมอประจำตัวพลอยนะคะคือคุณหมอปิยะรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมะเร็งวิทยา คุณหมอคือคนที่อยู่เบื้องหลังรอยยิ้มของพลอยด้วยนะคะ และก็ขอบคุณมากๆ ที่เชิญพลอยมาเล่าประสบการณ์ในวันนี้เช่นเดียวกัน”


     ด้านคุณพีรดา พีรศิลป์ นักเขียนและบรรณาธิการอิสระกับชีวิตที่ต้องเผชิญกับประสบการณ์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมากับการเป็นมะเร็งถึง 3 ครั้ง โดยนำมุมมองมาแบ่งปันว่านอกจากเชื่อมั่นในการรักษาแล้ว ต้องเชื่อมั่นในตัวเองด้วยโดยเมื่อมะเร็งทำให้ชีวิตเปลี่ยน การใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งอย่างมีความสุขในแบบตนเอง ซึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่พัฒนาไปเยอะมาก ๆ ทำให้ผลข้างเคียงจากคีโมก็น้อยลง มียามุ่งเป้า มีการรักษาใหม่ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และรอดชีวิตมากขึ้น โดยเธอตัดสินใจผ่าตัดเต้านมออกทั้งสองข้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมอีกข้างในอนาคต และทำความรู้จักโรค รู้จักตัวเอง อยู่กับมะเร็งอย่างเข้าใจ มะเร็งรักษาหายได้ แต่ก็อาจจะกลับมาเป็นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ โดยการเป็นมะเร็งแล้ว อย่าโทษโชคชะตา อย่าโทษตัวเองสิ่งที่เราทำได้คือยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนตัวเอง แล้วชีวิตเราก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพื่อรับมือกับการรักษา พร้อมเป็นพลังใจให้กับผู้ป่วยทุกคนโดยเธอกล่าวว่า “อยู่กับปัจจุบัน อย่ากังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง อย่าเสียเวลากับความทุกข์ และมีความสุขกับทุกวัน ถ้าเราเปลี่ยนอะไรไม่ได้ จงเปลี่ยนแปลงตัวเอง”


      ส่วนคุณโอปอล-สุชาตา ช่วงศรี มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2567 ได้บอกเล่าถึงประสบการณ์ที่คลำพบก้อนที่ผิดปกติบริเวณเต้านมทำให้รีบไปตรวจและปรึกษาหมอ ซึ่งปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยและการรักษาทันสมัยมาก ยิ่งตรวจเร็วรู้เร็วรักษาได้ทันก็มีโอกาสหายขาด โดยคุณโอปอลเล่าว่า “ตอนที่โอปอลเจอว่ามีความผิดปกติที่เต้านม จึงตัดสินใจบอกคุณแม่แล้วไปตรวจที่โรงพยาบาลพอตรวจกับคุณหมออย่างละเอียดจึงรู้ว่าก้อนไม่ใช่ไขมันแต่เป็นก้อนเนื้อส่วนเกินที่เต้านมทั้งสองข้างขนาด 8 ซม. และ10 ซม. โอปอลรู้ว่าการที่ผู้หญิงมีก้อนเนื้อหรือซีสต์ที่หน้าอกในผู้หญิงอาจเกิดขึ้นเมื่ออายุ 30-40 ปีขึ้นไป เพราะเราโตมากับคุณแม่และคุณป้าเป็นมะเร็งเต้านม ตอนนั้นไม่รู้ว่ามันจะมาเกิดขึ้นกับตัวเองได้ยังไง ยิ่งคิดยิ่งกลัวมากขึ้น มีสิ่งที่อยากจะทำหลาย ๆ อย่างตามความฝัน กลัวว่าชีวิตนี้จะไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ หลังจากที่ฟื้นจากการผ่าตัดจึงเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะว่าฉันรอดตายแล้ว หลังจากนี้ชีวิตฉันจะทำสิ่งที่อยากทำ เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นบอก หรือสิ่งที่คนอื่นมองเรา แต่คือสิ่งที่การที่เราตั้งเป้าหมายลงมือทำกล้าเริ่มทำสิ่งที่เคยกลัวค่ะ โดยจากประสบการณ์ สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้โอปอลมีความตระหนักรู้ในการตรวจเช็กเต้านมตัวเองสม่ำเสมอ ไปตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพื่อเฝ้าระวัง หากเจอความผิดปกติรีบไปพบหมอเพื่อจะได้รักษาทัน และเพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และขอเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วย ผู้ดูแล และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนค่ะ”


      ภายในงาน Pink Power, A Mile to Smile ก้าวต่อไปเพื่อรอยยิ้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ยังถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างเครือข่ายชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เปิดพื้นที่การสื่อสารผ่าน facebook : ชมรมเพื่อนมะเร็งเต้านม-โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลและกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเต้านมของโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ส่งต่อพลังและแรงบันดาลใจในการทำงานให้การขยายผลเครือข่ายบุคลากรการแพทย์สหสาขาวิชา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเต้านมให้เข้าถึงการรักษาอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ พร้อมร่วมกันสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันในการดำเนินชีวิต เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการจัดบูธกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมให้คำปรึกษาโรคมะเร็งเต้านม, แนะนำการตรวจคลำเต้านมด้วยตนเอง, แนะนำสิทธิการรักษา, การดูแลสุขภาพระหว่างการรักษา โดยทีมพยาบาลและเภสัชกร โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ บูธกิจกรรมธนาคารเต้านมเทียม การสอนเย็บเต้านมเทียม เป็นต้น สามารถติดตามรับชมกิจกรรมฯ ย้อนหลังผ่านระบบออนไลน์ได้ทาง Facebook Live : โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ , Facebook Live : TBCC ชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย และช่อง Youtube CRA Chulabhorn Channel

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

งาน "วันหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก" งานสร้างสริมคนดีมีคุณธรรรม ครั้งที่ ๓๖        วัน "หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร" จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นไปประธานเปิดงานที่หอประชุมบ้านมนังคศิลา เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งเป็นวันที่หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ถึงแก่อนิจกรรม จัดโดยองค์การกุศลต่างๆ ที่หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร มีส่วนเกี่ยวข้องประมาณ ๔๕ หน่วยงาน          งาน "วันหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก" งานสร้างเสริมคนดีมีคุณธรรม จัดเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและเผยแพร่เกียรติคุณของหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก และมอบรางวัล "หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก" ให้แก่บุคคลผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อเยาวชน สังคม ประเทศชาติโดยรวม  ซึ่งเป็นการดำเนินรอยตามจริยปฏิบัติและคุณธรรมสำคัญข้อหนึ่งของ "หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร" ที่ตลอดชีวิตท่านมีแต่การให้ คือให้ความเมตตา ให้โอกาส ให้เกียรติยกย่อง ให้กำลังใจส่งเสริมสนับสนุนซีเรีย ผู้น้อย และผู้ใต้บังคับบัญชา       สำหรับการจัดงาน "วันหม่อมงามจิตด์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก" งานสร้างสริมคนดีมีคุณธรรรม ปี ๒๕๖๗ นี้ เป็นการจัดงานครั้งที่ ๓๖ โดยได้รับเกียรติจาก พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล "หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก" สร้างเสริมคนดีมีคุณธรรม ประจำปี ๒๕๖๗ โดยมี คุณหญิงแสงเดือน ณ นคร ประธานมูลนิธิอนุสรณ์หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ในพระราชาชูปถัมภ์ฯ นางอารยา อรุณสวัสดิ์ รองประธานมูลนิธิฯ และประธานโครงการยกย่องเกียรติคุณคพิการดีเด่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้ช่วยศาสดาจารย์ ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข รองประธานมูลนิธิฯ คณะกรรมการมูลนิธิฯ คุณอัจฉรพรรณ คณาธนะวนิชย์ บริษัท แหลมทองสหการ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม คุณจันทรา อินทรทูต รองประธานกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถ้มภ์ และแขกผู้มีเกียรติร่วมงาน ณ หอประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ซอยอาริย์สัมพันธ์ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร          โดยภายในงาน พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานเปิดงานและมอบรางวัล "หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก" สร้างเสริมคนดีมีคุณธรรม ประจำปี ๒๕๖๗ ให้แก่ประธานคณะกรรมการอุปการะเยาวชนประจำจังหวัด (ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด) ของมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชน ในพระบรมราชินูปถัมภ์, อาจารย์ระดับอุดมศึกษาผู้ทรงคุณธรรม มีผลงานดีเด่นในการพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรมของนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษา, ครูในกรุงเทพฯ ผู้รับผิดชอบงานมูลนิธิร่วมจิตต์น้อมเกล้าฯ เพื่อเยาวชนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ผู้มีผลงานดีเด่นในการบำเพ็ญประโยชน์ดีเด่นแก่ประชาชนและสังคม (ตำรวจจราจรดีเด่น พนักงานกวาดถนนดีเด่น พนักงานขับรถโดยสารประจำทาง บขส. ดีเด่น ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดีเด่น พลเมืองดี และจิตอาสาดีเด่น), คนพิการดีเด่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิต, หมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่นและผู้นำหมู่บ้านหัตถกรรมดีเด่น       นอกจากนี้ยังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมทึ่ได้รับรางวัลในปีนี้ (ทุกภาค) และสินค้าผลิตภัณฑ์คนพิการอีกด้วย

งาน "วันหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร บุคคลสำคัญของโลก" งานสร้างเสริมคนดีมีคุณธรรรม ครั้งที่ ๓๖         วัน "หม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร&qu...