ททท. สำนักงานกรุงเทพฯ ร่วมกับ สธทท. จัดโครงการ "ไหวัพระริมน้ำให้ฉ่ำบุญ ปทุมธานี"
พานักท่องเที่ยวกราบพระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 5 วัดดัง เพื่อความเป็นสิริมงคล
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) ร่วมกันจัดทริปท่องเที่ยว "ไหวัพระริมน้ำให้ฉ่ำบุญ ปทุมธานี" นำนักท่องเที่ยวจำนวน 100 ท่าน เดินทางกราบพระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จังหวัดปทุมธานี โดยมี อ.มุ่ย หูทิพย์ (ชวิศ ชื่นเจริญ) นำขอพร ไหว้พระให้ถูกที่ ทำพิธีให้ถูกทาง เพื่อให้เกิดความสำเร็จผลกับใจ และ บริษัท ซิลเวอร์ สโตน ทัวร์ แอนด์ แทรเวิล จำกัด เป็นผู้ดำเนินการในการพาเที่ยวในทริปนี้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2567
คณะนักท่องเที่ยวนัดพบกัน ณ โรงแรม เดอะบาซาร์ แบ็งคอก รัชดา ลาดพร้าว เมื่อมาพร้อมกันแล้ว รถบัสปรับอากาศก็ออกเดินทางสู่จังหวัดปทุมธานีทันที โดยระหว่างทางมีการบริการอาหารว่างเช้า แบบ Set Box บนรถ ใช้เวลาไม่นานนักก็เดินทางถึง "วัดโบสถ์สามโคก" หรือ "วัดหลวงพ่อโตองค์ใหญ่" ต.บางกระบือ อ.สามโคก จังหวัดปทุมธานี เมื่อคณะนักท่องเที่ยวมาถึง นายชาญยุทธ เศวตสุวรรณ ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกรุงเทพมหานคร และ นายสหรัฐ โพธิโต รองผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานกรุงเทพมหานคร ก็ได้เดินทางมาต้อนรับ พร้อมกล่าวต้อนรับคณะนักท่องเที่ยว
"วัดโบสถ์สามโคก" เป็นวัดเก่าแก่โบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2164 โดยชาวมอญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี เดิมชื่อว่า "วัดสร้อยนางหงษ์" เป็นการนำชื่อหมู่บ้านที่อพยพมาตั้งเป็นชื่อวัด และได้สร้างเสาหงส์ขึ้นไว้เป็นสัญลักษณ์แห่งเมืองหงสาวดี ภายในวัดมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พระประธานและพระลำดับในโบสถ์ ใบเสมาหินชนวนศิลปะสมัยอยุธยาตอนตัน รวมไปถึงรูปพระธรรมและธรรมาสน์ยอดโดมในสมัยรัตนโกสินทร์ ที่วัดนี้ยังมีพระพุทธรูปที่สำคัญ นั่นก็คือ หลวงพ่อเหลือ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปทุมธานี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสร้างด้วยศิลาทราย มีทั้งหมด 12 องค์ด้วยกัน แต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2507 นั้น ถูกขโมยเข้ามาลักลอบตัดเศียรพระพุทธรูปภายในโบสถ์ ทำให้เหลือแค่เพียงหลวงพ่อเหลือองค์เดียวเท่านั้นที่ไม่ถูกตัดเศียร ชาวบ้านก็เลยเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า "หลวงพ่อเหลือ"
เมื่อมาถึงวัดแล้ว คณะนักท่องเที่ยวก็ต้องกราบสักการะหลวงพ่อเหลือ เพื่อขอพรให้แคล้วคลาดปลอดภัย เงินทองเหลือกินเหลือใช้ กราบสักการะ "หลวงพ่อทันใจ" พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทองคำเปลว ปางมารวิชัย หน้าตัก 32 นิ้ว ใครได้มาตั้งจิตอธิษฐาน ขออะไรก็ได้สมความปรารถนาทุกสิ่งทุกประการ นับเวลาจนปัจจุบันประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว และกราบสักการะ "สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสี" หรือ "หลวงพ่อโต" ปางเทศนาธรรมองค์ใหญ่ รวมถึงสักการะ "หลวงพ่อโสธร" องค์ใหญ่ริมน้ำ นอกจากนี้ยังมีท้าวเวสสุวรรณ วิหารท้าวจาตุคามรามเทพ วิหารพระสีวลี และ หลวงปู่ทวด
จากนั้นคณะนักท่องเที่ยวเดินทางไป "วัดบางนา" ต.บางโพธิ์เหนือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นราว พ.ศ. 2320 ช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและตอนต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยชาวเชื้อสายรามัญหรือชาวมอญ ภายในวัดแห่งนี้ เต็มไปด้วยอารยธรรมด้านสถาปัตยกรรมของชาวมอญ งานที่ทรงคุณค่ายิ่งทางพระพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตชาวมอญที่มีรากฐานมาแต่ครั้งโบราณกาล ความงดงามที่เป็นที่กล่าวขานอย่างมากคือพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่มีชื่อว่า "พระพุทธทิพย์สุวรรณมุนี" เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกสร้างในราวสมัยกรุงศรีอยุธยา รวมถึงพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์และปางมารวิชัย ที่มีการสร้างในรูปแบบก่ออิฐถือปูน และรอยพระพุทธบาทจำลอง ในพระวิหารขนาดเล็ก ซึ่งเป็นผลงานสถาปัตยกรรมที่มีอายุอันยาวนาน ควรค่าแก่การรักษาและอนุรักษ์
วัดแห่งนี้เริ่มเป็นที่รู้จักของชาวบ้านในสมัยของ "หลวงปู่เส็ง จันทรังสี" อดีตเจ้าอาวาสวัด รูปที่ 3 ถือว่าเป็นพระที่ได้รับสมณศักดิ์รูปแรก และเป็นพระภิกษุสงฆ์สายปฏิบัติ มากด้วยวิชาอาคมเชี่ยวชาญด้านภาษาขอมและเรื่องอักขระเลขยันต์ต่างๆ คณะนักท่องเที่ยวได้กราบสรีระสังขาร "หลวงปู่เส็ง จันทรังสี" ที่ไม่เน่าเปื่อย พร้อมทั้งลอดใต้โลงแก้วบรรจุสรีระสังขาร เพื่อความเป็นสิริมงคล และได้สักการะ "พญาครุฑ" หนึ่งในวัตถุมงคลของหลวงปู่เส็ง จันทรังสี เพื่อขอพรในโชคลาภ โภคทรัพย์ เพราะพญาครุฑ เปรียบเสมือนตัวแทนแห่งท้องพระคลังและเงินตรา อีกทั้งยังนำความเจริญรุ่งเรือง ยศถาบรรดาศักดิ์มาสู่ชีวิตหน้าที่การงาน
ต่อด้วย การไหว้ขอพร "เซียนแปะโรงสี" หรือ "เซียนแปะโง้วกิมโคย" ที่ ศาลาที ทองศิริ เซียนแปะ ให้ค้าขายคล่อง ร่ำรวย ปลดหนี้ เซียนแปะโรงสี ท่านชื่อ "นที ทองศิริ" หรือ "กิมเคย แซ่โง้ว" เป็นชาวจีนซึ่งย้ายมาอยู่ในเมืองไทย เป็นผู้ทรงศีลจิตใจดี เกื้อกูล ขยันขันแข็ง เริ่มจากการค้าข้าวเปลือก จนต่อมาได้ก่อตั้งโรงสีข้าวขึ้น ท่านเป็นผู้มีฌาน เก่งเรื่องโหงวเฮ้ง ฮวงจุ้ย และยังช่วยเหลืองานต่างๆ ในวัดศาลเจ้าอย่างเต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมวัด รวมไปถึงจัดการทำพิธีกรรมต่างๆ และในหลายๆ ครั้งก็เกิดปาฏิหารย์ขึ้นในงานพิธีจนเป็นที่เคารพนับถือ
เชื่อกันว่าท่านเป็นผู้มีบุญ มีผู้ที่ศรัทธาจากแหล่งต่างๆ มาพบท่านและให้ท่านช่วยเหลือ ชี้แนะเกี่ยวกับฮวงจุ้ยมากมาย โดยที่ท่านไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อยและไม่มีค่าตอบแทนใดๆ ผู้ที่ท่านชี้แนะมักประสบความสำเร็จในธุรกิจ กิจการรุ่งเรือง ผู้ที่เคารพศรัทธาจึงเรียกท่านว่า “อาแปะ” พร้อมทั้งขนานนามว่า “เซียนแปะ” มีความเชื่อกันว่า “เซียนแปะโรงสี” มีองค์ปู่ของเจ้าพ่อวัดศาลเจ้าประทับอยู่ เป็นที่รู้จักด้านความศักดิ์สิทธิ์ในทางปลดหนี้ การค้า กันภัย และ ว่ากันว่าผู้ใดพกพาหรือติดตั้ง "ยันต์ฟ้าประทานพร" ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของท่านอาจารย์ อยู่ในสถานที่ใดจะพบแต่ความเจริญรุ่งเรือง นำพาโชคลาภเงินทอง รวมถึงสามารถใช้แก้ ฮวงจุ้ยเสริมดวง นอกจากนี้ยังขึ้นชื่อทางด้านกันไฟและสิ่งไม่ดีทุกชนิดอีกด้วย
ขอพร "เซียนแปะโรงสี" แล้ว ก็เดินมาทำบุญที่ "วัดศาลเจ้า" ต.บ้านกลาง อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี เป็นวัดเก่าแก่อีกวัดหนึ่งของเมืองปทุม อยู่ติดกับวัดมะขาม สร้างเมื่อปลายกรุงศรีอยุธยา โดย เจ้าน้อยมหาพรหม บุตรเจ้าเมืองฝ่ายเหนือ เป็นผู้มีวิชาไสยศาสตร์แก่กล้า ท่านได้ล่องแพมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา จนมาถึงวัดมะขาม และได้พบกับ พระอาจารย์รุ พระภิกษุเชื้อสายรามัญ ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน ทั้งสองได้ทดสอบวิชากัน จนทำให้เจ้าน้อยมหาพรหม เกิดความเคารพเลื่อมใสในวิชาอาคมของพระอาจารย์รุ จึงขอสร้างวัดและศาลขึ้น ณ ที่นี้ แล้วตั้งชื่อว่า "วัดศาลเจ้า" ซึ่งน่าจะมาจาก "ศาล" ที่สร้างขึ้นโดย "เจ้า" น้อยมหาพรมล ภายในวัดจะมีปูชนียสถานที่สำคัญต่างๆ ทั้ง อุโบสถที่เจ้าน้อยมหาพรหมสร้างถวายในสมัยพระอาจารย์รุ เป็นอุโบสถเจดีย์แบบรามัญ ที่หาชมได้ยาก รวมไปถึงมีพระพุทธรูปที่เจ้าน้อยมหาพรหมสร้างไว้ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาการเปรียญ
และแล้วก็ได้เวลาอาหารกลางวัน คณะนักท่องเที่ยวก็เดินตะลอนหาของกิน ของอร่อยที่ "ตลาดริมน้ำวัดศาลเจ้า" เป็นแหล่งรวบรวมของอร่อยในจังหวัดปทุมธานี มีทั้งของคาว ของหวาน เรียกได้ว่าครบ แต่ที่ห้ามพลาดเลยก็คือ "กุยช่าย" เรียกว่าแทบจะทุกร้านคนต่อแถวยาวกันเลยทีเดียว ที่สำคัญทำกันสดๆ ให้เห็นเลยด้วย ได้ทั้งอิ่มบุญ อิ่มท้อง ครบที่เดียวเลย
หลังอิ่มหนำสำราญแล้ว คณะนักท่องเที่ยวก็เดินทางไปยัง "วัดโบสถ์" (หลวงปู่เทียน) ต.บ้านกลาง อ.เมืองปทุมธานี จ.ปทุมธานี เดิมชื่อ "วัดสร้อยนางหงษ์" สร้างเมื่อ พ.ศ. 2164 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม แห่งกรุงศรีอยุธยา ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้างวัดนี้ มีเพียงข้อสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชาวมอญหรือชาวรามัญที่อพยพมาจากเมืองหงสาวดี ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่อยู่คู่วัดโบสถ์ ได้แก่ หลวงพ่อรามัญทรงเครื่องในวิหาร พระแสงอาญาสิทธิ์ ของเก่าแก่จากรามัญ ช้างสี่เศียรใช้ติดตั้งประดับหัวเสา สร้างด้วยทองคำสัมฤทธิ์ อายุเก่าแก่ถึง 150 ปี ที่อยู่ในโบสถ์เก่าของวัด และรูปปั้นสุนัขย่าเหลหล่อด้วยตะกั่วที่อดีตเจ้าอาวาสได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในครั้งที่เสด็จประพาสเมืองสามโคก ต่อมาเปลี่ยนเป็นเมืองปทุมธานี
เมื่อมาถึงวัดนี้แล้ว คณะนักท่องเที่ยวก็ไม่พลาดกับการกราบสักการะ "หลวงพ่อสมปรารถนา" (หลวงพ่อรามัญทรงเครื่อง) หรือ "พระพุทธมหาจักรพรรดิ" เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบกษัตริย์ พุทธลักษณะงดงามมาก อายุกว่า 400 ปี สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองโปรดให้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2173 ส่วนพระพักตร์ "หลวงพ่อสมปรารถนา" ดูยิ้ม เพราะเมื่อครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททองแห่งกรุงศรีอยุธยามีความสงบสุขร่มเย็น เมื่อไหว้ขอพรหลวงพ่อสมปรารถนเสร็จแล้ว ก็ให้ลั่นระฆัง 1 ครั้ง แล้วไปผูกผ้าผ้าแดงใต้โบสถ์ หลังจากผูกเสร็จแล้วให้ออกมาตีฆ้อง 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จในการขอพร
ต่อด้วยการสักการะรูปหล่อ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ปางประทานพร องค์ใหญ่ สูง 3.5 เมตร เมื่อกราบไหว้บูชาแล้วจะชนะศัตรูหมู่มาร และจะพบเจอแต่สิ่งดีๆ ชีวิตจะประสบแต่ความสุขความเจริญ โดยทางวัดและทางชาวบ้านที่อยู่บริเวณนี้ได้ลงความเห็นกันว่า ควรจะมีรูปปั้นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเอาไว้ที่นี่ เพื่อในการระลึกถึงพระองค์ที่ได้ปกบ้านป้องเมือง
ตามด้วยการขอพร “ท้าวเวสสุวรรณ” หรือ ท้าวกุเวร เจ้าแห่งภูตผีปีศาจทั้งหลาย เป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้คุ้มครองดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ประทับทางทิศเหนือ มีอสูร รากษส และภูตผีปีศาจเป็นบริวาร ท้าวเวสสุวรรณมีอิทธิฤทธิ์มาก มีทรัพย์สมบัติมาก นอกจากช่วยปกป้องคุ้มครองแล้ว ยัง บันดาลโชคลาภและความร่ำรวย ให้แก่ผู้ที่บูชาอีกด้วย
และที่ห้ามพลาดคือ การกราบสักกาะรูปหล่อ "หลวงปู่เทียน" หรือ "พระครูบวรธรรมกิจ (เทียน ปุปฺผธมฺโม)" อดีตเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ ในปี พ.ศ. 2445 ซึ่งตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ท่านเป็นพระวิปัสสนากรรมฐานและเรียนตำราอักขระขอม ภาษาบาลี และตำราของชาวมอญมาตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโบสถ์ก็สร้างเครื่องรางของขลังเพื่อให้ญาติโยมทั้งหลายนำไปบูชา เช่น เสื้อผ้ายันต์ ผ้าประเจียด ตะกรุด พระสมเด็จ และพระปิดตา เป็นต้น ท่านมรณภาพในวันที่ 18 กรกฎาคม 2509 รวมอายุ 89 ปี ท่านอุปสมบทมา 70 พรรษา
ปิดท้ายทริปด้วยความสนุกสนานกับการชมและเชียร์ การแข่งเรือยาวประเพณีจังหวัดปทุมธานี ประจำปี ณ สวนเทพปทุม จ.ปทุมธานี ก่อนเดินทางกลับโรงแรม เดอะบาซาร์ แบ็งคอก รัชดา ลาดพร้าว โดยสวัสดิภาพ
เรื่อง/ภาพ...อนุรักษ์ มงคลชัยประทีป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น