วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

"ชัย" ประธาน สทท. นำทีม แถลงข่าว “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย และอัพเดตสถานการณ์ท่องเที่ยว” ไตรมาส 2/256

"ชัย" ประธาน สทท. นำทีม แถลงข่าว “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย 

และอัพเดตสถานการณ์ท่องเที่ยว” ไตรมาส 2/2568



       สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แถลงข่าว “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยและอัพเดตสถานการณ์ท่องเที่ยว”ไตรมาส 2/2568  โดยมี นายชัย อรุณานนท์ชัย ประธาน สทท. เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีเอนก นุรักษ์ รองประธานฝ่ายบริหาร สทท. นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม รองประธานฝ่ายยุทธศาสตร์ นายจีระยุ จารุกิตติวรกานต์ เลขาธิการ สทท. และรศ.ผกากรอง เทพรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ร่วมแถลงข่าว ท่ามกลางคณะกรรมการบริหาร สทท. อาทิ นางฉลอม สงล่า, นายแพทย์สมชัย เจียรนัยศิลป์, นางสมทรง สัจจาภิมุข, นางนงเยาว์ เนตรประสิทธิ์, นายวัสน์พล อรรถพรธนเสฐ, นางสาววิชชุพรรณ ภูเก้าล้วน ศรีสัญญา, นายรัชชพร พูลสวัสดิ์, นางกชนิภา อินทสุวรรณ, นายวิทวัส เมฆสุด, นายสุรัตน์ ศรีเบญจโชติ, นางศุลีพร เสรีวิวัฒนา, นายวรวุฒิ วรแสง และนายสมเกียรติ หินทอง รวมทั้งสื่อมวลชน เข้าร่วมฟังจำนวนมาก ณ ห้องประชุมจารุวัสต์ ชั้น 10 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฏาคม 2568




       จาก “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทยและอัพเดตสถานการณ์ท่องเที่ยว”ไตรมาส 2/2568 นี้ว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวครึ่งปีแรกของปี 2568 เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเกิดความกังวลในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยหลายเหตุการณ์ เช่น การลักพาตัวดาราชาวจีนและเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงจนตึกถล่มในประเทศไทย ทำให้นักท่องเที่ยวที่พูดภาษาจีน (Chinese-speaking tourists) ลดลงไปเกือบร้อยละ 50 และคาดว่าความกังวลยังส่งผลไปถึงกลางไตรมาส  3/2568 รวมทั้งเศรษฐกิจโลกในปี 2568 มีแนวโน้มชะลอตัวลงในระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปี จากการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของสหรัฐอเมริกา ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเกิดความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่ไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า ส่งผลให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมองหาความคุ้มค่าในการใช้จ่าย โดยเลือกเดินทางไปยังประเทศใกล้บ้านมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง นอกจากนี้พบว่าไตรมาสนี้นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลง เนื่องจากมีความกังวลต่อความปลอดภัยจากสถานการณ์การก่อวินาศกรรมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งไตรมาส 2-3 เป็นช่วง Low Season ของการท่องเที่ยวในประเทศไทย



       การประเมินสถานการณ์ท่องเที่ยวจากสถานประกอบการจำนวน 741 สถานประกอบการ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 2/2568 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 70 (ไตรมาสที่ผ่านมา 83) เป็นการลดลงในระดับมาก และลดลงมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ค่าดัชนี 2/2567,79) ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 3/2568 อยู่ที่ 65 เป็นการคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวที่ลดลงกว่าไตรมาสนี้และลดลงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา



       คาดการณ์ไตรมาส 3/2568 ผู้ประกอบการเกือบทุกภูมิภาคคาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาสหน้าจะลดลงกว่าไตรมาสนี้  ยกเว้นภาคกลางที่คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาสหน้าไม่แตกต่างจากไตรมาสนี้ คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในภาคกลาง (68) เป็นบวกมากกว่าภูมิภาคอื่น รองลงมาเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (67) ส่วนกรุงเทพมหานคร (58) คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกน้อยกว่าภูมิภาคอื่น โดยธุรกิจที่พักแรม (59) และสถานบันเทิง (59) คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวเป็นบวกน้อยกว่าธุรกิจประเภทอื่น



       รายได้ในภาพรวมของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไตรมาส 2/2568 อยู่ที่ร้อยละ 45 ของก่อนเกิดโควิด-19 ปี 2562 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาในระดับมาก (รายได้ไตรมาส 1/2568,58) ใกล้เคียงกับไตรมาส 3/2565 ช่วงที่การระบาดของโรคโควิดเริ่มผ่อนคลาย และมีการยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass สะท้อนสภาพเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้ประมาณร้อยละ 54 ของก่อนเกิดโควิด รองลงมาคือธุรกิจที่พักแรม (ร้อยละ 48) ส่วนร้านขายของฝาก/ของที่ระลึกและสถานบันเทิง (ร้อยละ 39) รายได้ลดลงมากที่สุด สถานประกอบการในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีรายได้เป็นบวกมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 49) ส่วนภาคเหนือ (ร้อยละ 40) มีรายได้ลดลงกว่าช่วงเวลาปกติมากที่สุด อัตราการเข้าพักของธุรกิจที่พักแรมในไตรมาส 2/2568 ในภาพรวมร้อยละ 48 ลดลงในระดับมากเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (OCC 1/2568,56) โดยภาคตะวันตกมีอัตราการเข้าพักสูงกว่าภูมิภาคอื่น (ร้อยละ 53) รองลงมาเป็นภาคตะวันออก (ร้อยละ 50)



        จากการสำรวจคนไทยจำนวน 450 คนทั่วประเทศ พบว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างจังหวัดของคนไทยในไตรมาส 2/2568 ประมาณ 4,976 บาท/คน/ทริป เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสที่ผ่านมา นอกจากนี้พบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 64 มีหนี้สิน โดยมีหนี้สินประมาณร้อยละ 32 ของรายได้ โดยอาชีพเกษตรกรและอาชีพรับจ้างทั่วไปได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนมากกว่าอาชีพอื่นๆ เนื่องจากมีรายได้น้อยและรายได้ไม่แน่นอน คาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวของคนไทยในไตรมาส 3/2568 พบว่ามีแนวโน้มลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา (ร้อยละ 31) ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคนไทยขาดกำลังซื้อ และเศรษฐกิจภายในประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ประชาชนต้องการให้มี “โครงการคนละครึ่ง” เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศขึ้นอีกครั้ง



        และจากการสำรวจนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 302 คน พบว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในไตรมาส 2/2568 ประมาณ 46,718 บาท/คน/ทริป โดยนักท่องเที่ยวยุโรปใช้จ่ายมากที่สุด (64,169 บาท/คน/ทริป) รองลงมา ตะวันออกลาง (56,889 บาท/คน/ทริป) ส่วนนักท่องเที่ยวจีน ค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาท/คน/ทริป  

        คาดว่าทั้งปี 2568 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 33.3 ล้านคน น้อยกว่าปี 2562 ร้อยละ 16.5 และน้อยกว่าปี 2567 ร้อยละ 6.2 คาดว่าปี 2568 มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 1.75  ล้านล้านบาท น้อยกว่าปี 2562 ร้อยละ 8.3 คาดว่า ปี 2568 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 4.5 ล้านคน ค่าใช้จ่าย ประมาณ 50,000 บาท/คน/ทริป  มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 225,000 ล้านบาท







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

CP LAND เปิดวาร์ปทีเซอร์ซิงเกิลแรก ‘Shine Like LUXRIVA’ เสริมพลังแบรนด์ ผ่าน AI Member

CP LAND เปิดวาร์ปทีเซอร์ซิงเกิลแรก ‘Shine Like LUXRIVA’ เสริมพลังแบรนด์ ผ่าน AI Member        บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP LAND ...