วันพฤหัสบดีที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2567

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วมจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด 

จัดทีมลงพื้นที่แจกจ่ายถุงยังชีพฟื้นฟูหลังน้ำลดแก่ผู้ประสบอุทกภัย 

ช่วยเหลือค่าฌาปนกิจแก่ญาติผู้เสียชีวิต


      มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายรัชพร ประสงค์ทรัพย์ หัวหน้าแผนกสาธารณภัย ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นำทีมแผนกสาธารณภัย และแผนกบรรเทาสาธารณภัยฯ ฝ่ายปฏิบัติการ และลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด  ในโครงการฟื้นฟูหลังน้ำลด แจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย ข้าวสาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช และน้ำปลา ให้แก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอนายายอาม อำเภอท่าใหม่ อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี และ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด รวมทั้งสิ้น 2 จังหวัด เครื่องอุปโภคบริโภครวมจำนวน 2,500 ชุด ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2567


        นอกจากนี้ยังได้ มอบเงินสงเคราะห์ค่าฌาปนกิจให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต จำนวน 2 รายๆ ละ 20,000 บาท  รวมงบประมาณการช่วยเหลือทั้งสิ้น 1,165,000 บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนหกหมื่นห้าพันบาทถ้วน)  โดยมี ผู้แทนจากหน่วยงานรัฐเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดจันทบุรี  และสมาคมตราดพุทธสงเคราะห์ “พ่งไล้หลักเซียวเกาะ” จังหวัดตราด เป็นผู้ประสานงานและร่วมให้ความช่วยเหลือ


         เมื่อเกิดอุทกภัย มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้จัดทีมบรรเทาสาธารณภัย พร้อมเรือท้องแบน และ โรงครัวเคลื่อนที่เพื่อประกอบอาหารกล่อง พร้อมถุงยังชีพ ชุดยาเวชภัณฑ์ และอาหารสุนัขและแมว นำแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัย เพื่อการบรรเทาทุกข์และช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่างๆ ในเบื้องต้น หลังจากนั้น ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ จะดำเนินการประสานหน่วยงานในพื้นที่เพื่อบรรเทาทุกข์ ฟื้นฟูหลังน้ำลด โดยแจกเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น รวมถึงมอบเงินค่าฌาปนกิจศพแก่ญาติผู้เสียชีวิตจากอุทกภัย รายละ 20,000 บาท ทั้งนี้ หากมีผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย ญาติของผู้เสียชีวิตสามารถประสานรายละเอียดเกี่ยวกับการช่วยเหลือค่าฌาปนกิจศพจากมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่ แผนกสาธารณภัย ฝ่ายสังคมสงเคราะห์ โทร 0-2225-0020 เวลา 08.30-16.30 น.

ติดตามข่าวสารกิจกรรม การช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

#ป่อเต็กตึ๊ง ยึดมั่นอุดมการณ์ อยู่เคียงข้างทุกวิกฤต

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต”

#แอปพลิเคชัน และ #สายด่วน ป่อเต็กตึ๊ง1418

#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

พม. ชวนเที่ยวงาน “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”

พม. ชวนเที่ยวงาน “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” 

อุดหนุนผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน-สินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง



       นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดงานมหกรรมจัดแสดงผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนและสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ภายใต้แนวคิด “ใต้ร่มพระบารมี อัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์ วิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ ผลักดันสวัสดิการยั่งยืน” โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนางจตุพร โรจนพานิช อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ คณะผู้บริหารกระทรวง พม. ผู้แทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน  และได้รับเกียรติจากหม่อมราชวงศ์ปณิธาน จรูญโรจน์ มาร่วมเป็นเกียรติในงานด้วย ณ เซ็นทรัลเวิลด์ ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567



      นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของประชาชนทุกกลุ่มทั่วประเทศ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการดูแลให้มีเกียรติ ศักดิ์ศรี งานอาชีพ และรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคง ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนมิติความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสร้าง “หลักประกันและความมั่นคงในชีวิต” คือ การสนับสนุนทางสังคมและโอกาส การมีงานทำและมีรายได้ และการจัดสวัสดิการสังคม โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และทุนทางสังคมเป็นแกนกลางในการพัฒนาสังคม เห็นได้จากการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวง พม. ภายใต้ “นโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร” สำหรับราษฎรบนพื้นที่สูงล้วนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ในการทรงงานและมีพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการ ที่เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน



         และเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาอาชีพ เพิ่มรายได้แก่ราษฎรบนพื้นที่สูง และการธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมให้แพร่หลาย กระทรวง พม. โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จึงได้จัดงานมหกรรมจัดแสดงผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนและสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ภายใต้แนวคิด “ใต้ร่มพระบารมี อัตลักษณ์วิถีขาติพันธุ์ วิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ ผลักดันสวัสดิการยั่งยืน”



       งาน “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ในครั้งนี้ ทุกท่านจะได้สัมผัสกับความงดงามของผลิตภัณฑ์จากกลุ่มชาติพันธุ์ที่หาดูได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอที่ประณีต การปักที่งดงาม การเย็บและตกแต่งด้วยวัสดุหลากหลาย สะท้อนถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันลึกซึ้ง สำหรับไฮไลท์ของงานวันนี้ คือการแสดงแฟชั่นโชว์ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง  โดย ดร.สุวรรณา ศิลปอาชา ภริยารัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. คุณอาภาพรรณ โจโควิดจาจา คุณรัดเกล้า สุวรรณคีรี นางจตุพร โรจนพานิช อธิบดี พส. พร้อมคณะผู้บริหาร และดารานักแสดง อาทิ ทับทิม - อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ แม็กกี้-อาภา ส้ม - ธัญสินี พรมสุทธิ์ ตะวัน - ณวินวิชญ์ กิตติชนวิทย์ เปียโน - ณิชาภัทร และ หลุยส์ เฮส รวมทั้งเจ้าแม่แฟชั่นอย่างคุณธันยลักษณ์ พรหมมณี และอินฟลูเอนเซอร์อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ  นิทรรศการเทิดพระเกียรติ “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และ “อัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์” เป็นการจัดแสดงผ้ากลุ่มชาติพันธุ์จากอดีตสู่ปัจจุบัน จุดสาธิตการผลิตสินค้าชุมชนบนพื้นที่สูง การจัดจำหน่ายสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง เวทีเสวนา “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนพื้นที่สูง สู่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่” และโซน “วิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์” เป็นการจัดแสดงผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน และสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง เช่น เสื้อผ้ากลุ่มชาติพันธุ์ กาแฟและโกโก้ เครื่องประดับเงิน และหัตถกรรม เป็นต้น



       นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชนบนพื้นที่สูง เป็นถิ่นอาศัยของราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งมีอัตลักษณ์ วิถีชีวิต ประเพณี และผลิตภัณฑ์ชุมชนที่โดดเด่น ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ดังนั้นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรบนพื้นที่สูงในมิติด้านอาชีพและรายได้ จึงถือเป็นหลักประกันสำคัญในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดี  ซึ่งงานครั้งนี้ จะช่วยสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ตลอดจนสมาชิกกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี นำมาสู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานราก ผ่านการจัดตั้ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชน” และการรวมกลุ่มให้เกิดสวัสดิการสังคมในระดับพื้นที่ ทำให้วัยทำงานเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญ ในการดูแลครอบครัวและชุมชน สอดคล้องกับการส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์มีเกียรติ ศักดิ์ศรี งานอาชีพ และรายได้ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างมั่นคง



      ในนามของกระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่าย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมไปถึงกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่ได้เข้ามาร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ราษฎรบนพื้นที่สูง ซึ่งกระทรวง พม. เชื่อมั่นว่า แนวทางการรวมกลุ่มด้านรายได้และอาชีพ ที่ทำให้เกิดสวัสดิการสังคมในระดับพื้นที่เช่นนี้ จะสามารถขยายผลความสำเร็จได้เป็นอย่างดี และขอใช้โอกาสนี้ เรียนเชิญทุกท่านได้เข้ามาร่วมชม และร่วมกันสนับสนุนสินค้าของพี่น้องราษฎรบนพื้นที่สูง ตั้งแต่วันนี้ถึง 24 สิงหาคม 2567 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ

#ข่าวพม #พม #ศรส #esshelpme #1300 #วราวุธศิลปอาชา #วราวุธรับฟังทำจริง #พมพอใจให้ทุกวัยพึงพอใจในพม #พมหนึ่งเดียว #ผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน #สินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง

วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2567

สจล. เปิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ "KAISEM" ครบวงจรแห่งแรกในไทย

สจล. เปิดศูนย์วิจัยนวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ "KAISEM" ครบวงจรแห่งแรกในไทย

จับมือบริษัทเอกชนระดับโลก ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมายในการพัฒนาประเทศ

         สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ฉลองการก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 ด้วยการเปิดตัว ศูนย์ KMITL Academy of Innovative Semiconductor Manufacturing (KAISEM) ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ที่ครบวงจรแห่งแรกในประเทศ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567

       ศูนย์ KAISEM จะทำหน้าที่เป็นห้องปฏิบัติการกลาง (central laboratory) ที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาร่วมมือกันในการวิจัย และพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เซมิคอนดักเตอร์ของไทย ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่ โดยศูนย์ KAISEM จะเป็นศูนย์กลางในการศึกษาและพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมด้านเซมิคอนดักเตอร์ และกระบวนการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งเป้าหมายเป็น the Word Master of Innovation อย่างยั่งยืน

          รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอด 64 ปีที่ผ่านมา สจล. ได้สร้างชื่อเสียงในด้านการศึกษาและการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ เช่น วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ วิศวกรรมระบบการผลิต และวิศวกรรมวัสดุ ในปีนี้ สจล. ได้ก่อตั้งศูนย์ KMITL Academy of Innovative Semiconductor Manufacturing (KAISEM) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางและเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาในการก้าวสู่อนาคตที่เต็มไปด้วยความท้าทายของอุตสาหกรรมเชมิคอนตักเตอร์

         สจล. มีประวัติการวิจัยที่ยาวนานในด้านเชมิคอนดักเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบวงจรรวม การพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนตักเตอร์ หรือการออกแบบแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ที่ประยุกต์ใช้งานในด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ สจล. ยังมีความร่วมมือกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยชั้นนำจากทั่วโลก เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเยอรมนี ซึ่งความร่วมมือเหล่านี้จะยิ่งเสริมสร้างศักยภาพในการวิจัยของศูนย์ KAISEM และทำให้สจล. เป็นผู้นำระดับโลกในด้านเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ พร้อมทั้งเชื่อมโยงภาคการศึกษาและอุตสาหกรมเพื่อให้บริการวิชาการที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ

        รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนให้ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหลักสูตรภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มุ่งผลิตบุคลากรคุณภาพสำหรับตำแหน่งงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำกว่า 11 องค์กร ซึ่งทำให้คณะมีห้องปฏิบัติการด้านเซมิคอนดักเตอร์และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย สนับสนุนการเป็นศูนย์กลางในการผลิตบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศไทย นอกจากนี้ คณะยังได้เสนอแนวทางการเรียนไปพร้อมกับการทำงาน (WIL) ซึ่งช่วยให้บุคลากรพร้อมเข้าสู่ตลาดงานได้ทันทีและลดระยะเวลาในการรอให้กับภาคอุตสาหกรรม

         ภายในงานการเปิดศูนย์ KAISEM ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างสถาบันฯ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ บริษัท National Instruments ซึ่งเป็นบริษัทด้านเซมิคอนดักเตอร์ ชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบทดสอบและวัดผลอัตโนมัติ และมีการให้บริการในหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ อากาศยานอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม มายกระดับการเรียนการสอนและการวิจัยของคณะ ให้ก้าวสู่ระดับสากล

           ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิภู ศรีสืบสาย รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ สจล. กล่าวว่า สจล. เป็นผู้นำในด้านวิศวกรรมวัสดุ (Material Engineering) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ศูนย์ KAISEM มุ่งเน้นการรวบรวมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ เพื่อเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ที่มีความทันสมัยและประสิทธิภาพสูง ศูนย์ KAISEM จะเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านวัสดุศาสตร์ โดยเฉพาะการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เชมิคอนดักเตอร์และ PCB ศูนย์ KAISEM จะมุ่งเน้นการพัฒนาวัสดุที่สามารถตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในระดับโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการรวมความเชี่ยวชาญจากนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ของ สจล. และพันธมิตร ศูนย์ KAISEM จะช่วยเพิ่มความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และเสริมกระบวนการผลิตให้มีความทันสมัยและแข่งขันได้ในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

            รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรพล ภคศิริ รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง สจล. กล่าวว่า สจล. ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมและการให้บริการวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐและเอกชนมาอย่างยาวนาน การเปิดศูนย์ KAISEM จะตอบสนองความต้องการในการทดลองกระบวนการผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆ ด้วยบริการออกแบบเทคโนโลยีการผลิตแบบ pilot ก่อนการลงทุนในระดับใหญ่ พร้อมกับการวิจัยและพัฒนาสำหรับการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ศูนย์ KAISEM ยังจะเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์และเป็นศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญในการสร้างงานวิจัยขั้นสูงเกี่ยวกับเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์และ PCB โดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมัน เพื่อยกระดับเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยให้เป็นรับในระดับโลก นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการให้บริการด้านวิชาการ การเรียนการสอน และการฝึกครบถ้วนและสมบูรณ์

        การก้าวเข้าสู่ปีที่ 65 ของ สจล. ไม่เพียงแต่เป็นการเฉลิมฉลองความสำเร็จที่ผ่านมา แต่ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตที่เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย ศูนย์ KAISEM เป็นสัญลักษณ์ของความมุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์ และเป็นการยืนยันถึงบทบาทของ สจล. ในการเป็น World Master of Innovation พร้อมนำประเทศไทยเข้าสู่ยุคใหม่ของนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ติดตามความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial  และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th  และติดตามรายละเอียดหลักสูตรที่เปิดสอนได้ที่  https://curriculum.kmitl.ac.th/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000 


วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2567

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างชีวิต อย่างยั่งยืน มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจน มอบรถจักรยานให้กับโรงเรียนในพื้นที่ชนบท

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  สร้างชีวิต อย่างยั่งยืน มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้แก่ครัวเรือนยากจน 

มอบรถจักรยานให้กับโรงเรียนในพื้นที่ชนบท 

พร้อมนำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกบริการฟรีแก่ชาวมุกดาหาร


          มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร กรรมการและรองเลขาธิการ  เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ นางศิริพร กระจ่างหล้า ผู้จัดการฝ่ายสังคมสงเคราะห์ นางสาวศุภรัตน์ สมบัติเจริญไทย หัวหน้าแผนกส่งเสริมการศึกษาและอาชีพ และนางสาวเนาวรัตน์ วรรณศิริ หัวหน้าแผนกหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน  ร่วมในพิธีมอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร (จังหวัดที่ 13 ของทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 23 ครัวเรือน พร้อมมอบรถจักรยานในโครงการ จักรยานเพื่อน้องสัญจร ครั้งที่ 5 จำนวน 100 คัน กระบอกน้ำ จำนวน 500 ใบ ให้แก่โรงเรียนที่ขาดแคลน จำนวน 10 แห่ง เพื่อให้นักเรียนที่ประสบปัญหาในการเดินทางได้ยืมเรียน รวมถึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าพาหนะแก่ผู้ปกครองได้อีกทางหนึ่ง อีกทั้งยังเสริมสร้างให้นักเรียนได้ออกกำลังกาย เรียนรู้กฎจราจร เรียนรู้การแบ่งปัน และดูแลรักษาสาธารณสมบัติร่วมกัน รวมมูลค่าสิ่งของที่มอบในครั้งนี้เป็นเงิน 711,510 บาท (เจ็ดแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยสิบบาทถ้วน) นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังได้จัดหน่วยแพทย์สงเคราะห์ชุมชน นำทีมแพทย์อาสาฯ เจ้าหน้าที่  และอาสาสมัครลงพื้นที่ให้บริการประชาชนฟรี ประกอบด้วย บริการตรวจรักษาโรคทั่วไป จ่ายยา คัดกรองเบาหวาน ตรวจวัดสายตาพร้อมแจกแว่น บริการตัดผม ฯลฯ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมี นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายสุรพล แก้วอินธิ ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการ ที่ 11 เป็นประธานร่วมในพิธี  พร้อมด้วย นายวิโรจน์ น้ำหอม ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมสัมมาชีพชุมชน  คณะมูลนิธิการกุศลมุกดาหาร เป็นผู้ประสานงานและร่วมในพิธี  และอาสาสมัครศิลปินมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายศรสุทธา กลั่นมาลี (ถั่วแระ เชิญยิ้ม)  นางสาวพัชรมัย บุญเลิศกุล (แพรว) ร่วมในพิธี รวมทั้ง ประชาชน เยาวชน และผู้แทนจากสถาบันการศึกษา เป็นผู้รับมอบ ณ บริเวณหอประชุมที่ว่าการอำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567


        โครงการแก้ไขปัญหาความยากจนเชิงบูรณาการ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้สนับสนุนอุปกรณ์ประกอบอาชีพ ช่วยเหลือครัวเรือนยากจน ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหาความยากจน  ระหว่างกรมการพัฒนาชุมชนและมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ซึ่งมูลนิธิฯ ได้จัดงบประมาณดำเนินการเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์การประกอบอาชีพมอบให้แก่ครัวเรือนยากจน ให้สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัว โดยในกลุ่มเป้าหมายแรกดำเนินการในพื้นที่ภาคกลาง 17 จังหวัด รวม 98 ครัวเรือน ต่อมา ได้ดำเนินการในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือ 17 จังหวัด รวม 230 ครัวเรือน ซึ่งได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในขณะได้พิจารณาพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 20 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ นครราชสีมา อุดรธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู บึงกาฬ ยโสธร ศรีสะเกษ มหาสารคาม ขอนแก่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ สกลนคร เลย หนองคาย และ นครพนม

         ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปี ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลายทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป ดังปณิธาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

## มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต ##

#แอปพลิเคชันป่อเต็กตึ๊ง1418

#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สนับสนุนค่าพาหนะ และเครื่องอุปโภคบริโภค ให้แก่ผู้รับขาเทียม ช่าง และอาสาสมัคร ในโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ครั้งที่ 170 จังหวัดตรัง

มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สนับสนุนค่าพาหนะ และเครื่องอุปโภคบริโภค ให้แก่ผู้รับขาเทียม ช่าง และอาสาสมัคร 

ในโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ครั้งที่ 170 จังหวัดตรัง


       สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานขาเทียมแก่คนพิการขาขาด ของมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในการนี้ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง นำโดย นายวิชิต ชินวงศ์วรกุล รองประธานกรรมการ พร้อมด้วย นางศิริกุล โอภาสวงศ์ กรรมการและเลขาธิการ นางจินดา บุญลาภทวีโชค กรรมการตรวจสอบ เฝ้าฯ รับสเด็จ  พร้อมมอบค่าพาหนะ และเครื่องอุปโภคบริโภค ประกอบด้วย บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันพืช รองเท้าฟองน้ำ ยาพาราเซตามอล ยาตำราหลวง ผลิตภัณฑ์โปรตีนเสริม เสื้อสำเร็จรูป และหน้ากากอนามัย ให้แก่ผู้รับขาเทียม ช่างและอาสาสมัคร ที่เข้าร่วมโครงการออกหน่วยทำขาเทียมพระราชทานเคลื่อนที่ ครั้งที่ 170 รวมจำนวน 180 คน รวมงบประมาณทั้งสิ้น 287,022 บาท (สองแสนแปดหมื่นเจ็ดพันยี่สิบสองบาทถ้วน)

 

โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และประธานกรรมการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  จากนั้น ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์นิเวศน์ นันทจิต เลขาธิการมูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลถวายรายงาน และกราบบังคมทูลเบิกผู้สนับสนุนกิจการมูลนิธิขาเทียมฯ พร้อมด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ อาทิ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมในพิธี ณ ห้องนครา แกรนด์บอลรูม โรงแรมเรือรัษฎา อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง เมื่อวันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2567

        ตลอดระยะเวลากว่า 114 ปี ที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  ได้ขยายขอบข่ายโครงการต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงแต่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แก่ผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ  ศาสนา เท่านั้น แต่ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตอีกในหลายทาง เพื่อเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ช่วยเหลือประชาชนครบวงจรในทุกๆ ด้าน ต่อไป ดังปณิธาน มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต

ติดตามข่าวสาร และกิจกรรมการช่วยเหลือของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ได้ที่เฟซบุ๊ก แฟนเพจ www.facebook.com/atpohtecktung

## มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ช่วยชีวิต รักษาชีวิต สร้างชีวิต ##

#แอปพลิเคชันป่อเต็กตึ๊ง1418

#ช่วยจริงอุ่นใจแม้ในนาทีฉุกเฉิน

เหล่าดาราดังตบเท้าเดินแฟชั่นโชว์ “มหกรรมแสดงผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนและสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง”

เหล่าดาราดังตบเท้าเดินแฟชั่นโชว์ “มหกรรมแสดงผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนและสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง”

      ทับทิม อัญรินทร์ ธีราธนันพัฒน์ นำทีมเหล่าดารา นางแบบ อาทิ รัก สุลักษมิ์ ศิริภัทรพงศ์ ตะวัน ณวินวิชญ์ กิตติชนวิทย์  ส้ม ธัญสินี พรมสุทธิ์  ฟิล์ม กรรญกฤต อรรควงษ์ เปียโน ณิชาภัทร มิว ฐปณัฐฑ์ นักแสดงพร้อมด้วยเหล่านางแบบ อินฟลูเอนเซอร์ อีกมากมาย รวมทั้งเจ้าแม่แฟชั่นอย่างคุณธันยลักษณ์ พรหมมณี มาร่วมพิธีเปิดงาน “มหกรรมแสดงผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนและสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง” เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง “ใต้ร่มพระบารมี พระบรมราชชนนีพันปีหลวง”


       งานนี้จัดโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นำเสนอผลิตภัณฑ์สิ่งทอและหัตถกรรมจากชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ลวดลาย และสีสันในรูปแบบของการปัก การเย็บ และการตกแต่งด้วยวัสดุต่าง ๆ ที่มีเอกลักษณ์ของราษฎรบนพื้นที่สูง จำนวน 10 ชาติพันธุ์ ได้แก่ กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลาหู่ ลีซู อาข่า ลัวะ ถิ่น ขมุ และมลาบรี อันแสดงให้เห็นถึงความงดงาม ความละเอียดอ่อน ความประณีต รวมทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลวดลาย


            งาน “มหกรรมแสดงผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนและสินค้าราษฎรบนพื้นที่สูง”จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 24 สิงหาคม 2567 ณ เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “ใต้ร่มพระบารมี อัตลักษณ์วิถีชาติพันธุ์ วิสาหกิจชุมชนสร้างสรรค์ ผลักดันสวัสดิการยั่งยืน”





วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2567

สจล.จัดพิธีลงนามในสัญญา KMILT Smart Campus

สจล.จัดพิธีลงนามในสัญญา KMILT Smart Campus 

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงบูรณาการสู่สถาบันอัจฉริยะ

         สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดพิธีลงนามในสัญญา KMILT Smart Campus การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงบูรณาการสู่สถาบันอัจฉริยะ ด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมต่อและบริหารจัดการอุปกรณ์อินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) สู่การแสดงผลข้อมูลสารสนเทศผ่านแบบจำลองเสมือนของสถาบัน (Building Information Modelling: BIM) ในรูปแบบ Digital Twins ภายในศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการความปลอดภัยและทรัพยากรของสถาบันให้มีประสิทธิภาพ พร้อมเป็นต้นแบบให้กับภาครัฐและเอกชนในการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน (Sustainable Campus) ให้กับประเทศ

        พิธีลงนามในสัญญาโครงการดังกล่าวมี รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สจล. นายภานุพงษ์ วรินธนาพันธ์ กรรมการบริษัท แทพ กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด และผู้แทนบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญา โดยมีคณาจารย์ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งจัดขึ้น ณ อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สจล. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567

         รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร (สจล.) กล่าวว่า  การเปิดตัวโครงการ "KMITL Smart Campus" ครั้งนี้ ถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสถาบัน เพราะเป็นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาและยกระดับสถาบันให้เป็นสถาบันอัจฉริยะ โดยทางสจล.ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเชื่อมต่อและบริหารจัดการอุปกรณ์อินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) และนำข้อมูลเหล่านี้มาแสดงผลผ่านแบบจำลองเสมือนของสถาบัน (Building Information Modelling: BIM) ในรูปแบบ Digital Twins ภายในศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center: IOC) ซึ่งจะช่วยยกระดับการบริหารจัดการความปลอดภัยและทรัพยากรของสถาบันให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

           โครงการนี้ยังมุ่งหวังที่จะเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Campus) ในอนาคตของประเทศไทยด้วยวิสัยทัศน์ของสถาบันที่มุ่งเน้นการเป็น "The World Master of Innovation" อีกทั้ง สถาบันยังได้ดำเนินนโยบาย 5 Global Indexes ที่ครอบคลุมทุกด้านของการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรบุคคล ระบบการทำงาน คุณภาพชีวิต การต่อยอดเครือข่าย การส่งเสริมนวัตกรรม และการผลักดันด้านการเรียนรู้

 “ เรามีความเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งนักศึกษา บุคลากร และพันธมิตร เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวและเป็นต้นแบบที่โดดเด่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ต่อทั้งสถาบันและสังคมโดยรวม”

          รองศาสตราจารย์ สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดีฝ่ายกายภาพ สิ่งแวดล้อมและทรัพย์สิน สจล. กล่าวว่า    โครงการ KMITL Smart Campus ไม่เพียงแต่เป็นการนำเทคโนโลยี ใหม่ๆ มาใช้ในการจัดการและพัฒนาสถาบันเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้าง สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมอย่าง เต็มที่ โดยมีการติดตั้งระบบต่างๆ เช่น ระบบบริหารพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่สามารถลดการใช้พลังงานและลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) และศูนย์การเรียนรู้ที่มีเทคโนโลยีทันสมัยเพื่อ สนับสนุนการศึกษาและการวิจัย

           การเปิดตัวโครงการนี้เป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของสจล.ที่จะขับเคลื่อนสถาบันให้ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการบริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคมในยุคปัจจุบัน

ติดตามความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial  และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th และติดตามรายละเอียดหลักสูตรที่เปิดสอนได้ที่  https://curriculum.kmitl.ac.th/ 

หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000 


แอลจี เปิดตัว ‘LG Subscribe’ พลิกโฉมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า

แอลจี เปิดตัว ‘LG Subscribe’ พลิกโฉมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า  เป็นเจ้าของง่ายขึ้นด้วยบริการ Subscription       บริษัท แอลจี อีเลคทรอนิคส์ (ประเทศ...